ความเป็นมา และประเภทสินค้าอันตราย
สินค้าอันตราย (Dangerous Goods) คือ สาร (substances) และสิ่งของ (articles) ที่สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือทรัพย์สินเมื่อนำมาขนส่ง (Malcolm A. Fox, 1999) ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปอมริกาเหนือ เรียกว่า Hazardous Materials หรือ HazMat ส่วนประเทศในยุโรปและทวีปอื่นๆ ที่เหลือ เรียกว่า Dangerous Goods ซึ่งแปลตรงตัวว่า สินค้าอันตราย
ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติด้านการขนส่งสินค้าอันตราย ภายใต้คณะกรรมาธิการแห่งสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Council's Committee of Experts on the Transport of Dangerous Goods) ได้จัดทำข้อแนะนำสหประชาชาติว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายหรือคู่มือเล่มสีส้ม (Orange Book) ครั้งแรกขึ้นในปี ค.ศ. 1956 (ST/ECA/43-E/CN.2/170) โดยมีวัตถุประสงค์ให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ นำไปใช้เป็นแนวทางในการออกกฎหมายในประเทศ และหน่วยงานระหว่างประเทศภายใต้สหประชาชาติสามารถนำไปออกข้อกำหนดเฉพาะสำหรับแต่ละโหมดการขนส่ง (Modal specific) คู่มือเล่มสีส้มมีการปรับปรุงใหม่เป็นระยะทุกๆ สองปีเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้นำไปใช้ โดยในปีค.ศ. 2000 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างให้สอดคล้องกันกับข้อกำหนดของทุกโหมดการขนส่ง (ยกเว้นการขนส่งทางอากาศที่มีโครงสร้างแตกต่างออกไป)
คณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติได้กำหนดประเภทของสาร และสิ่งของหรือผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งานให้เป็นไปตามประเภทใดประเภทหนึ่งตามความเป็นอันตรายหรือตามอันตรายที่เด่นชัดที่สุดที่แสดง โดยบางประเภทอาจแบ่งเป็นประเภทย่อย ดังนี้
ประเภทที่ 1 สารและสิ่งของระเบิด

ประเภทย่อยที่ 1.1 สารและสิ่งของที่มีอันตรายจากการระเบิดทั้งมวล

ประเภทย่อยที่ 1.2 สารและสิ่งของที่มีอันตรายจากการยิงชิ้นส่วนออกไป แต่ไม่เป็นการระเบิดทั้งมวล

ประเภทย่อยที่ 1.3 สารและสิ่งของที่มีอันตรายจากการเกิดไฟไหม้และอันตรายจากทั้งการระเบิดขนาดเล็ก หรือการยิงชิ้นส่วนเล็กน้อย หรือทั้งสองแบบ แต่ไม่เป็นการระเบิดทั้งมวล

ประเภทย่อยที่ 1.4 สารและสิ่งของที่ไม่แสดงความเป็นอันตรายที่มีนัยสำคัญ

ประเภทย่อยที่ 1.5 สารที่ความไวต่ำมากซึ่งมีการระเบิดทั้งมวล

ประเภทย่อยที่ 1.6 สิ่งของที่ความไวต่ำอย่างมากซึ่งไม่มีการระเบิดทั้งมวล
ประเภทที่ 2 ก๊าซ

ประเภทย่อยที่ 2.1 ก๊าซไวไฟ

ประเภทย่อยท ี่ 2.2 ก๊าซไม่ไวไฟ ไม่เป็นพิษ

ประเภทย่อยที่ 2.3 ก๊าซพิษ
ประเภทที่ 3 ของเหลวไวไฟ

ประเภทที่ 4 ของเหลวไวไฟ สารที่เสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง สารที่สัมผัสน้ำให้ก๊าซไวไฟ

ประเภทย่อยที่ 4.1 ของแข็งไวไฟ สารที่ทำปฏิกิริยาได้เอง วัตถุระเบิดของแข็งที่ถูกทำให้ความไวในการระเบิดลดลง และสารที่เกิดโพลิเมอไรซิ่ง (polymerizing substances)

ประเภทย่อยที่ 4.2 สารที่เสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง

ประเภทย่อยที่ 4.3 สารที่เมื่อสัมผัสน้ำให้ก๊าซไวไฟ
ประเภทที่ 5 สารออกซิไดซ์ และเปอร์ออกไซด์อินทรีย์

ประเภทย่อยที่ 5.1 สารออกซิไดซ์

ประเภทย่อยที่ 5.2 เปอร์ออกไซด์อินทรีย์
ประเภทที่ 6 สารพิษและสารติดเชื้อ

ประเภทย่อยที่ 6.1 สารพิษ

ประเภทย่อยที่ 6.2 สารติดเชื้อ
ประเภทที่ 7 วัสดุกัมมันตรังสี




ประเภทที่ 8 สารกัดกร่อน

ประเภทที่ 9 สารและสิ่งของอันตรายเบ็ดเตล็ด รวมถึงสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม


สารหรือสิ่งของที่จัดว่าเป็นสินค้าอันตรายต้องมีการจำแนกประเภทโดยต้องมีข้อมูล
-
หมายเลขสหประชาชาติ หรือหมายเลข UN
-
ชื่อที่ถูกต้องในการขนส่ง (Proper Shipping Name: PSN)
-
ประเภทสินค้าอันตราย (ประเภทหลัก และประเภทย่อย, ถ้ามี)
-
กลุ่มการบรรจุ (สำหรับบางประเภทสินค้าอันตราย)
กำหนดไว้เสมอ
กลุ่มการบรรจุ แสดงถึงระดับความเป็นอันตรายของสินค้าอันตรายตัวนั้นซึ่งแสดงด้วยเลขโรมัน เป็น 3 ระดับ (I, II และ III) ได้แก่
กลุ่มการบรรจุ I แสดงความเป็นอันตราย สูง
กลุ่มการบรรจุ II แสดงความเป็นอันตราย ปานกลาง
กลุ่มการบรรจุ III แสดงความเป็นอันตราย ต่ำ
กลุ่มการบรรจุสัมพันธ์กับการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ตามระดับความแข็งแรงของบรรจุภัณฑ์ที่กำหนดโดยตัวอักษรภาษาอังกฤษ X, Y และ Z คือ
กลุ่มการบรรจุ I ต้องเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ระดับความแข็งแรง X
กลุ่มการบรรจุ II ต้องเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ระดับความแข็งแรง Y (หรือระดับ X ก็ได้เพราะแข็งแรงกว่า Y)
กลุ่มการบรรจุ III ต้องเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ระดับความแข็งแรง Z (หรือระดับ X และ Y ก็ได้)
ผู้ขนส่งสามารถหาข้อมูลการจำแนกประเภทดังกล่าวได้จากเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet: SDS) ของสารหรือสิ่งของนั้น จากหัวข้อที่ 14 ดังภาพตัวอย่างสไตรีน โมโนเมอร์ (Styrene Monomer) ซึ่งแสดง UN 2055 Styrene monomer, stabilized, 3, III

